พันธุ์ข้าวฟ่างที่ใช้ปลูกอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันหลายพันธุ์ ผลิตจำหน่ายโดยภาครัฐบาลและภาคเอกชน พันธุ์ข้าวฟ่างที่ใช้อาจแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
๑. ข้าวฟ่างพันธุ์แท้หรือสายพันธุ์บริสุทธิ์ เป็นพันธุ์ข้าวฟ่างที่มีความคงตัวของลักษณะพันธุ์จากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลง คือ รุ่นลูกจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับรุ่นพ่อแม่เสมอ ถ้าไม่ได้รับการผสมข้ามหรือปะปนมาจากพันธุ์อื่น ในธรรมชาติแล้วข้าวฟ่างจะเป็นข้าวฟ่างสายพันธุ์บริสุทธิ์เกือบทั้งหมด ข้าวฟ่างที่ดีประเภทนี้ จะสามารถให้ผลิตผลสูง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี แต่ต้นมีความสูงไม่ค่อยสม่ำเสมอนัก ข้าวฟ่างชนิดนี้มีทั้งพันธุ์หนักอายุยาว และพันธุ์เบาอายุสั้น สามารถเก็บเมล็ดเอาไว้ทำพันธุ์เพื่อปลูกในฤดูต่อไปได้โดยไม่กลายพันธุ์ เช่น พันธุ์เฮการีหนัก พันธุ์อู่ทอง ๑ และพันธุ์สุพรรณบุรี ๖๐
๒. ข้าวฟ่างลูกผสม คือพันธุ์ข้าวฟ่างที่ได้จากการผสมข้ามของสายพันธุ์แท้ (inbred line) สองสายพันธุ์ขึ้นไป เรียกว่าลูกชั่วแรก (F1) เพื่อให้เกิดลักษณะดีเด่นหลายๆ ประการ เช่น ให้ผลิตผลสูง แข็งแรง ต้นเตี้ยมีความสูงสม่ำเสมอมาก เก็บเกี่ยวได้ง่าย เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วออกดอกเร็ว อายุเก็บเกี่ยวสั้น ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ตอบสนองต่อปุ๋ยดี แต่เมล็ดของข้าวฟ่าง ประเภทนี้ ไม่สามารถนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อไปได้ เพราะลักษณะดีเด่นต่างๆ จะปรวนแปรและเสื่อมลง ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่มาปลูกทุกปี เมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ผลิตจำหน่ายโดยบริษัทเอกชน ราคาเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างแพง เนื่องจากวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมนี้ทำได้ยาก เช่น พันธุ์ลูกผสม เคยู ๘๕๐๑ (KU 8501) พันธุ์ แปซิฟิก ๘๐ (Pacific 80) เป็นต้น
สีของเมล็ดข้าวฟ่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสม มีทั้งสีขาว สีเหลือง สีเหลืองนวล สีแดงแสด และสีน้ำตาล ความนิยมปลูกของพันธุ์ที่มีเมล็ดสีต่างๆ นั้น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดหรือการค้า และวัตถุประสงค์ของการใช้ประโยชน์หรือในการแปรรูป ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ข้าวฟ่างโดยธรรมชาติจะเป็นพืชผสมตัวเอง แต่อาจจะมีการผสมข้ามโดยลมหรือแมลงถึงร้อยละ ๑๕ ดังนั้น จึงไม่ควรปลูกข้างฟ่างต่างพันธุ์ที่มีสีเมล็ดต่างกันไว้ใกล้กันและในเวลาเดียวกัน เพราะจำทำให้เกิดการผสมข้าม เป็นเหตุให้สีเมล็ดเกิดการผสมปนกัน ขายไม่ได้ราคาดี
การปลูกและการดูแลรักษาข้าวฟ่าง
ฤดูปลูก ข้าวฟ่างปลูกได้ตลอดปี แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องเลือกพันธุ์ปลูกให้เหมาะสม เพราะพันธุ์ข้าวฟ่างบางพันธุ์มีความไวต่อช่วงแสง โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรไทยจะปลูกข้าวฟ่างแตกต่างกันเป็น ๒ ระบบ แล้วแต่ท้องที่ บางแห่งปลูกเป็นพืชหลัก บางแห่งปลูกเป็นพืชรอง ถ้าปลูกเป็นพืชหลักจะปลูกต้นฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หรือในขณะที่มีฝนพอที่จะปลูกได้ หากข้าวฟ่างรุ่นแรกให้ผลดี หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วเกษตรกรจะตัดต้นปล่อยให้แตกหน่อเพื่อเก็บผลิตผลอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าแตกหน่อไม่ดีก็จะไถทิ้งแล้วปลูกข้าวฟ่างใหม่หรือพืชอื่นแทน การปลูกต้นฤดูฝนมีปัญหาที่สำคัญ คือ ปัญหาการตากข้าวฟ่าง เพราะผลิตผลของการปลูกรุ่นนี้จะเก็บเกี่ยวได้ในระยะที่มีฝนตกชุก หาที่ตากช่อยาก เมล็ดมักชื้น และมีเชื้อราเกิดขึ้น ทำให้ได้เมล็ดไม่มีคุณภาพ นอกจากนี้ การปลูกต้นฤดูฝนมักจะมีหนอนเจาะต้นอ่อนข้าวฟ่าง ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญระบาดทำลายต้นอ่อนมาก แต่ปริมาณของหนอนนี้จะลดลงในตอนปลายฤดูฝน การปลูกข้าวฟ่างต้นฤดูฝนนี้จะปฏิบัติกันมากในแถบที่ปลูกข้าวโพดไม่ค่อยได้ผล อาจจะเป็นเพราะดินระบายน้ำไม่ค่อยดี หรือฝนตกค่อนข้างน้อยไม่สม่ำเสมอ เช่น แถบจังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี หรือพื้นที่ที่เป็นดินทรายมาก ความชื้นไม่พอที่จะปลูกข้าวโพดได้เช่น ท้องที่บางแห่งในจังหวัดนครสวรรค์
การปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชรอง เกษตรกรจะปลูกกันมากในบริเวณที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพด เช่น ในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ โดยปลูกข้าวฟ่างเป็นพืชที่สองตามหลังข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวโพดแล้ว ซึ่งจะอยู่ในราวเดือนสิงหาคม – กันยายน การปลูกในช่วงนี้น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในสภาพการเพาะปลูกของประเทศไทย เพราะระยะที่ปลูก ดินจะมีความชื้นดี ทำให้เมล็ดงอกได้สม่ำเสมอ ต้นอ่อนเจริญเติบโตดี ข้าวฟ่างรุ่นนี้จะแก่และเก็บเกี่ยวได้เมื่อฝนหมดพอดี ทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยวและการตาก ได้เมล็ดที่แห้งสนิทสะอาด และมีคุณภาพดี ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อราที่เมล็ด ข้าวฟ่างในขณะที่เป็นกล้าไม่ค่อยทนแล้งมากนัก แต่จะทนแล้งได้ดีเมื่อต้นโตแล้ว จึงควรใช้คุณสมบัติข้อนี้ของข้าวฟ่างให้เป็นประโยชน์ คือ ปลูกพืชอื่นในต้นฤดูฝน แล้วปลูกข้าวฟ่างตาม ซึ่งข้าวฟ่างก็ยังสามารถให้ผลได้ดี วิธีนี้จะทำให้สามารถปลูกพืชได้ ๒ ครั้ง โดยอาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว
การเตรียมดิน ควรไถดินครั้งแรกให้ลึกประมาณ ๑๓-๑๖ เซนติเมตร เพื่อพลิกดินให้แตกและทำลายวัชพืช แล้วตากดินไว้ประมาณ ๑ สัปดาห์ จากนั้นจึงไถแปรหรือไถพรวนเพื่อย่อยให้ดินร่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่จะโรยเมล็ด เพราะต้นอ่อนของข้าวฟ่างเจริญเติบโตช้า ดินบริเวณดังกล่าวจึงควรเตรียมให้ร่วนซุยดี เพื่อให้เก็บหรืออุ้มความชื้นและอากาศถ่ายเทได้ดี เหมาะแก่การงอกและการเจริญเติบโตของต้นอ่อนข้าวฟ่าง การเตรียมดินไม่ดีอาจจะทำให้เมล็ดงอกไม่สม่ำเสมอ การเตรียมดินดีนอกจากจะทำให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตดีแล้ว ยังจะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้อีกด้วย
วิธีการปลูก การปลูกข้าวฟ่างอาจจะใช้วิธีหว่านหรือปลูกเป็นแถว การปลูกโดยวิธีหว่านเสียแรงงานในการปลูกน้อย แต่ต้นข้าวฟ่างจะขึ้นไม่สม่ำเสมอ บางแห่งอาจจะถี่เกินไปหรือห่างเกินไป และต้นขึ้นไม่เป็นแถวเป็นแนว ทำให้เข้าไปดายหญ้ากำจัดวัชพืชลำบาก จะเสียแรงงานในการดายหญ้ามากกว่าการปลูกแถว ถ้าหากจะปลูกด้วยวิธีหว่านควรเตรียมดินให้สะอาดจริงๆ จะช่วยลดปริมาณวัชพืชลงได้บ้าง การหว่านใช้เมล็ดประมาณ ๓-๔ กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนการปลูกเป็นแถวเป็นแนว นอกจากจะสะดวกในการเข้าไปดายหญ้ากำจัดวัชพืชแล้ว ยังสามารถควบคุมระยะปลูกให้สม่ำเสมอกันได้ดีอีกด้วยการปลูกเป็นแถวอาจจะใช้วิธีหยอดเป็นหลุม หรือใช้ควายหรือรถไถเปิดร่องให้ลึก ๕-๘ เซนติเมตรแล้วโรยเมล็ดให้ห่างกันได้ระยะแล้วจึงกลบ ระยะปลูกที่แนะนำ คือ ระยะห่างระหว่างแถว ๕๐-๖๐ เซนติเมตร และระหว่างต้น ๑๐ เซนติเมตร หรือระยะระหว่างแถว ๖๐ เซนติเมตร ระหว่างหลุม ๓๐ เซนติเมตร และ ๓ ต้นต่อหลุม ซึ่งจะมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ ๒๖,๐๐๐-๓๒,๐๐๐ ต้น หากต้นที่ขึ้นมาถี่เกินไปควรจะถอนทิ้งเสียบ้างให้ได้ระยะตามที่ต้องการ ถ้าปล่อยให้ต้นถี่เกินไปจะทำให้ต้นเล็ก รวงเล็ก และผลิตผลต่ำ การปลูกแบบแถวใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๓ กิโลกรัมต่อไร่
การใส่ปุ๋ย ถ้าดินที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยอีก แต่ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ควรหาปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือปุ๋ยเคมี ใส่ช่วยตามสมควร อัตราการใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ควรใช้ จะแตกต่างกันไปตามสภาพความสมบูรณ์ของดิน ในแต่ละท้องที่และแต่ละชนิดของดิน โดยทั่วๆ ไป ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เช่น ในดินทรายแนะนำให้ใช้ปุ๋ยสูตร ๑๖-๑๖-๘ หรือ ๑๕-๑๕-๑๕ ในอัตราประมาณ ๓๕-๘๐ กิโลกรัมต่อไร่ แล้วแต่สูตรปุ๋ย สำหรับดินร่วนเหนียวที่ไม่อุดมสมบูรณ์นักใช้ปุ๋ยสูตร ๒๐-๒๐-๐ ในอัตรา ๒๕-๕๐ กิโลกรัมต่อไร่
การใส่ปุ๋ยในการปลูกแบบหว่าน ต้องหว่านปุ๋ยดังกล่าวแล้วพรวนกลบก่อนหว่านข้าวฟ่าง การปลูกเป็นแถวอาจใช้วิธีโรยในแถวที่จะปลูกหรือหยอดในหลุมที่จะหยอดเมล็ด แต่ต้องไม่ให้เมล็ดสัมผัสกับปุ๋ยได้ อาจจะโรยปุ๋ยก้นร่องหรือก้นหลุม แล้วกลบด้วยดินก่อนที่จะหยอดเมล็ด เนื่องจากปุ๋ยเคมีมีราคาแพง ฉะนั้น จึงควรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ เพราะนอกจากจะลดค่าปุ๋ยแล้ว ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักยังช่วยทำให้ดินร่วนซุย อมน้ำ และดูดซับธาตุอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย
การกำจัดวัชพืช วัชพืชเป็นตัวแย่งน้ำและอาหารของพืชที่ปลูก หากปล่อยให้มีมากจะทำให้ผลิตผลต่ำ ควรจะดายหญ้ากำจัดวัชพืชอย่างน้อย ๒ ครั้ง ครั้งแรกควรทำเมื่อข้าวฟ่างมีอายุราว ๑ เดือน หรือขณะที่ข้าวฟ่างและวัชพืชยังเล็กอยู่ในระยะแรกๆ ข้าวฟ่างจะโตช้า ขึ้นสู้หรือแข่งกับวัชพืชไม่ทัน การกำจัดวัชพืชในช่วงนี้นับว่าสำคัญมาก หากปล่อยให้มีวัชพืชจะทำให้ผลิตผลของข้าวฟ่างลดต่ำลงมามาก การกำจัดวัชพืชครั้งที่ ๒ เมื่อข้าวฟ่างมีอายุประมาณ ๒ เดือน การปลูกข้าวฟ่างแบบหว่านมักไม่มีการกำจัดวัชพืช เนื่องจากเข้าไปปฏิบัติในแปลงได้ลำบาก
การใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชในสภาพการเพาะปลูกข้าวฟ่างของประเทศไทยยังไม่เหมาะสม เนื่องจากสารเคมีราคาค่อนข้างแพงในกรณีที่ต้องการใช้ ควรใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชอะทราซีน (atrazine) พ่นหลังจากปลูกข้าวฟ่างเสร็จแล้ว และดินยังมีความชื้นอยู่ ในอัตรา ๔๐๐ กรัมต่อไร่
ข้าวฟ่างปลูกได้ตลอดปี แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องเลือกพันธุ์ปลูกให้เหมาะสม เพราะพันธุ์ข้าวฟ่างบางพันธุ์มีความไวต่อช่วงแสง โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรไทยจะปลูกข้าวฟ่างแตกต่างกันเป็น ๒ ระบบ แล้วแต่ท้องที่ บางแห่งปลูกเป็นพืชหลัก